พายุ ของ ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2563

พายุไต้ฝุ่นหว่องฟ้ง

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 3 (SSHWS)
ระยะเวลา10 – 17 พฤษภาคม
ความรุนแรง155 กม./ชม. (100 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
965 mbar (hPa; 28.5 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): อัมโบ

ตัวระบบบริเวณความกดอากาศต่ำถูกบันทึกไว้ครั้งแรกโดยศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมในวันที่ 9 พฤษภาคม ขณะที่ระบบอยู่ใกล้กับไมโครนีเซีย วันต่อมาระบบพัฒนาขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนทางตะวันออกของเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ และมีการเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกอย่างช้า ๆ ต่อมาศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ออกการแจ้งเตือนการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อน ขณะที่การพาความร้อนเริ่มเข้าบังศูนย์กลาง วันต่อมา PAGASA ได้จัดให้ระบบเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนตามมาตราของหน่วยงาน และให้ชื่อท้องถิ่นกับระบบว่า อัมโบ (Ambo) นับว่าเป็นพายุหมุนเขตร้อนลูกแรกของฤดูกาลที่เข้าสู่พื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงาน[6] โดย PAGASA ตั้งข้อสังเกตว่าอาจไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มสัญญาณเตือน เนื่องจากตัวระบบที่มีกำลังอ่อน[7] วันต่อมา ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ปรับให้ระบบเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน และให้รหัสว่า 01W[8] ตัวพายุยังคงทวีกำลังแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อมากรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นปรับให้ระบบเป็นพายุโซนร้อน และให้ชื่อว่า หว่องฟ้ง (Vongfong)[9] หลังจากนั้นไม่นาน ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมก็ปรับให้ระบบเป็นพายุโซนร้อนเช่นกัน[10] จากสภาพแวดล้อมที่ดีคือมีลมเฉือนต่ำ อุณหภูมิน้ำทะเล 29 ถึง 30 องศาเซลเซียส และมีกระแสพัดออกที่ดี ทำให้พายุหว่องฟ้งมีการทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นของวันที่ 13 พฤษภาคม[11] จากนั้นไม่นาน กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ปรับให้หว่องฟ้งเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรง และต่อมาศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมก็ปรับให้พายุเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 1 ที่ความเร็วลม 130 กม./ชม. ด้วย และยังระบุว่าตัวโครงสร้างพายุมีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ปรับให้หว่องฟ้งเป็นพายุไต้ฝุ่นในวันเดียวกันนี้[11] ไม่นานนัก JTWC ได้ปรับให้พายุหว่องฟ้งเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 2 เมื่อตาพายุเริ่มปรากฏชัดขึ้น และอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา พายุหว่องฟ่งได้บรรลุถึงความรุนแรงระดับพายุไต้ฝุ่นระดับ 3[12] หว่องฟ้งเกิดวัฏจักรการแทนที่กำแพงตาและอ่อนกำลังลงกลับไปเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 2 แต่หว่องฟ้งสิ้นสุดวัฏจักรดังกล่าวอย่างรวดเร็ว และได้ทวีกำลังกลับขึ้นมาเป็นระดับที่ 3 อีกครั้งหนึ่ง วันที่ 14 พฤษภาคม เวลา 12:15 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศฟิลิปปินส์ พายุหว่องฟ้งพัดขึ้นฝั่งในเมืองซันโปลิการ์โป จังหวัดซีลางังซามาร์[13] และอ่อนกำลังลงอย่างต่อเนื่องขณะมีการเคลื่อนตัวผ่านช่องแคบติเกา และเข้าใกล้กับจังหวัดซอร์โซโกนมากขึ้น[14] วันต่อมา PAGASA พบว่าพายุพัดขึ้นฝั่งเพื่มอีกห้าแห่ง ได้แก่ เกาะดาลูปิริ เกาะกาปูล เกาะติเกา เกาะบูรีอัส และเมืองซันอันเดรส จังหวัดเคโซน ในคาบสมุทรบนด็อกของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์[15] พายุหว่องฟ้งอ่อนกำลังลงจากการพัดขึ้นฝั่งหลายที่ วันที่ 15 พฤษภาคม กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ปรับให้พายุไต้ฝุ่นหว่องฟ้งเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรง[16] ส่วนศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ปรับให้ระบบเป็นพายุโซนร้อน พายุโซนร้อนกำลังแรงหว่องฟ้งทำให้เกิดฝนตกหนักและลมแรงในพื้นที่เมโทรมะนิลา ซึ่งเป็นเขตเมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึงบริเวณอื่นของเกาะลูซอนด้วย ต่อมาพายุหว่องฟ้งพัดขึ้นฝั่งครั้งที่ 7 ที่เมืองรียัล จังหวัดเคโซน และมุ่งหน้าเข้าไปบนแผ่นดินของเกาะลูซอน ทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างมากไปทั่วเขตกิตนางลูโซน[17][18] ต่อมาพายุหว่องฟ้งอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนขณะกำลังอยู่บนแผ่นดินของเกาะลูซอน ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม พายุหว่องฟ้งเคลื่อนตัวออกจากเกาะลูซอนลงสู่ทะเลฟิลิปปินตะวันตก ทางด้านตะวันตกของจังหวัดตีโมกอีโลโคส หลังจากที่พายุหว่องฟ้งโจมตีหลายพื้นที่ของประเทศฟิลิปปินส์ไปแล้ว ตัวพายุได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน ขณะที่ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมปรับให้ระบบเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน และออกคำเตือนฉบับสุดท้ายพร้อมกันนั้นเลย แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นยังคงจัดให้ตัวพายุเป็นพายุโซนร้อนอยู่ ในที่สุดทางกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นก็ได้ปรับให้ระบบเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน และออกคำเตือนฉบับสุดท้ายให้กับพายุ

ในการเตรียมรับมือพายุของประเทศฟิลิปปินส์ มีการประกาศการเตือนภัยระดับ 3 ทั่วจังหวัดซีลางังซามาร์และบางส่วนของจังหวัดฮีลากังซามาร์[19] มีการสั่งอพยพประชาชนกว่าหมื่นครอบครัวในบริเวณซามาร์ออกไปยังศูนย์อพยพ และเนื่องจากการระบาดทั่วของโรค COVID-19 ทำให้ศูนย์อพยพรับผู้อพยพได้เพียงครึ่งหนึ่งของความจุเท่านั้น และยังมีการร้องขอให้มีการสวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสด้วย[20] ในวันที่ 27 พฤษภาคม โดยพายุไต้ฝุ่นหว่องฟ้งทำให้เกิดความเสียหายทางการเกษตร 1.57 พันล้านเปโซฟิลิปปินส์ และทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 5 คน[21][22]

พายุโซนร้อนนูรี

พายุโซนร้อน (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา10 – 14 มิถุนายน
ความรุนแรง75 กม./ชม. (45 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
996 mbar (hPa; 29.41 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): บุตโชย

วันที่ 10 มิถุนายน กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นเริ่มติดตามพายุดีเปรสชันเขตร้อนกำลังอ่อน ที่ก่อตัวขึ้นทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ หลายวันต่อมา PAGASA ได้เริ่มติดตามระบบเช่นกัน และให้ชื่อท้องถิ่นกับระบบว่า บุตโชย (Butchoy)[23][24] โดย PAGASA ระบุว่าพายุดีเปรสชันเขตร้อนบุตโชยพัดขึ้นฝั่งครั้งแรกบนเกาะโปลิลโลในเวลา 17:30 น. ตามเวลาท้องถิ่น และพัดขึ้นฝั่งครั้งที่สองในเมืองอินฟันตาในอีกไม่นานนัก ต่อมาศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ออกการแจ้งเตือนการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนให้กับระบบ

พายุทำให้เกิดอุทกภัยเป็นบริเวณกว้างทั่วประเทศฟิลิปปินส์ ขณะที่เคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอนและเสริมกำลังให้กับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หลังจากนั้นไม่นาน ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ปรับให้ระบบเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน และให้รหัสว่า 02W โดย 02W ได้เริ่มทวีกำลังแรงขึ้นในทะเลฟิลิปปินตะวันตก และกลายเป็นพายุโซนร้อนและได้รับชื่อ นูรี (Nuri) จากกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นในวันที่ 12 มิถุนายน

นูรีทวีกำลังแรงขึ้นอยู่ภายในทะเลจีนใต้ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้วิเคราะห์ว่าระบบมีความเร็วลม 75 กม./ชม. วันที่ 13 มิถุนายน ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ปรับให้นูรีเป็นพายุโซนร้อน อย่างไรก็ตาม ในวันถัดไป ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นและศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมต่างปรับลดความรุนแรงของนูรีเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน จากนั้นระบบได้เคลื่อนขึ้นฝั่งใกล้กับเมืองหยางเจียง โดยศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ออกคำเตือนฉบับสุดท้ายในเวลาต่อมา[25] ในฮ่องกง พายุนูรีทำให้เกิดฝนตกหนัก โดยทำให้มีผู้เสียชีวิตหนึ่ง[26]

พายุโซนร้อนซินลากู

พายุโซนร้อน (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา31 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม
ความรุนแรง65 กม./ชม. (40 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
992 mbar (hPa; 29.29 inHg)

วันที่ 29 กรกฎาคม พื้นที่ความแปรปรวนในเขตร้อนอยู่ห่างจากมะนิลา ฟิลิปปินส์ปทางตะวันออกหลายร้อยกิโลเมตร ตัวระบบเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกมุ่งหน้าสู่ทะเลจีนใต้ บริเวณทะเลจีนใต้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา เนื่องจากหน้าปะทะอากาศเหมยหยูที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีนั้นอ่อนกำลังลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ปรับให้ระบบเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน ในช่วงต้นของวันที่ 31 กรกฎาคม ตัวพายุดีเปรสชันเขตร้อนพยายามรวบรวมการจัดระบบ เนื่องจากอยู่ใกล้กับแผ่นดินและการไหลเวียนระดับต่ำที่ศูนย์กลสงนั้นถูกเผยออกในวันที่ 31 กรกฎาคม จากนั้นช่วงต้นของวันที่ 1 สิงหาคม พายุดีเปรสชันได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้รับชื่อว่า ซินลากู (Sinlaku) จากนั้นไม่นาน ซินลากูเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ เหนือทะเลจีนใต้โดยไม่มีการทวีกำลังแรงขึ้น และในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อจากนั้นจึงพัดขึ้นฝั่งใกล้อ่าวฮาลองในภาคเหนือของเวียดนาม จากนั้นจึงได้อ่อนกำลังลงขณะพัดผ่านพื้นที่ภูเขาสูงของเวียดนาม[27]

ซินลากูทำให้เกิดฝนตกอย่างหนักทั่วทั้งภาคกลางและภาคเหนือของประเทศเวียดนาม ทำให้เกิดอุทกภัยขึ้น โดยมีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 คน จากเหตุการณ์ทำนบถล่มและน้ำป่าไหลหลาก และยังทำให้บ้านเรือนนับหลายพันหลังคาเรือนประสบอุทกภัย พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายอย่างกว้างขวาง[28] ขณะที่เศษเหลือของซินลากูได้พัดลงสู่มหาสมุทรอินเดียและทวีกำลังแรงขึ้นเป็นหย่อมความกดอากาศกำลังแรงในช่วงวันที่ 5–8 สิงหาคม โดยก่อนหน้านั้นได้พัดผ่านประเทศไทยและสร้างความเสียหายขึ้นจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทยจากอิทธิพลของซินลากูทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน[29] และส่วนที่เหลือของพายุยังทำให้เกิดฝนตกหนักในบางพื้นที่ของประเทศอินเดียด้วย[30][31]

พายุไต้ฝุ่นฮากูปิต

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 1 (SSHWS)
ระยะเวลา31 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม
ความรุนแรง130 กม./ชม. (80 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
975 mbar (hPa; 28.79 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): ดินโด

วันที่ 1 สิงหาคม กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นเริ่มเฝ้าติดตามพายุดีเปรสชันเขตร้อนกำลังอ่อนที่ก่อตัวขึ้นในตอนบนของทะเลฟิลิปปิน โดย PAGASA ได้จัดให้ระบบเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน และให้ชื่อว่า ดินโด (Dindo)[32] จากนั้นศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ปรับให้ระบบเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน และให้รหัสเรียกว่า 03W โดยตัวพายุได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนในวันที่ 1 สิงหาคม ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น และได้รับชื่อว่า ฮากูปิต (Hagupit) จากนั้นฮากูปิตได้เริ่มทวีกำลังแรงขึ้นในทะเลฟิลิปปิน โดยมีกำลังลมถึง 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในช่วงท้ายของวันที่ 1 สิงหาคม ในวันที่ 2 สิงหาคม ฮากูปิตยังคงทวีกำลังแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องทางใต้ของจังหวัดโอกินาวะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งฮากูปิตทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรงในช่วงระหว่างวันที่ 2 สิงหาคม และมีกำลังลมสูงสุดใกล้กับพายุระดับ 1 ในช่วงต้นของวันที่ 3 สิงหาคม ต่อมาฮากูปิตได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นบริเวณทางตอนเหนือของไต้หวัน โดยเริ่มมีการก่อตัวของตาพายุขนาดใหญ่ขึ้นที่ศูนย์กลางพายุขณะกำลังประชิดประเทศจีน ต่อมาในเวลา 17:00 UTC ฮากูปิตพัดขึ้นฝั่งที่เวินโจว ประเทศจีน ด้วยความเร็วลมพัด 85 ไมล์ต่อชั่วโมง และความกดอากาศ 975 มิลลิบาร์ หลังจากพัดขึ้นฝั่งแล้ว ฮากูปิตยังคงกำลังในระดับพายุไต้ฝุ่นอยู่เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ก่อนจะเริ่มอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว ต่อมาในช่วงระหว่างวันที่ 4 สิงหาคม ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้รับให้ฮากูปิตเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นยังคงติดตามระบบในฐานะพายุโซนร้อน

ในการเตรียมรับพายุฮากูปิต ทางการจีนได้สั่งอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย[33] โดยฮากูปิตทำให้เกิดปริมาณน้ำฝนสูงสุดที่ 13.11 นิ้ว (333 มิลลิเมตร) ในเขตจิงชานของเวินโจว[34] และทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 12 คน

พายุโซนร้อนชังมี

พายุโซนร้อน (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา7 – 11 สิงหาคม
ความรุนแรง85 กม./ชม. (50 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
996 mbar (hPa; 29.41 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): เอนเดง

วันที่ 7 สิงหาคม กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นเริ่มติดตามพายุดีเปรสชันเขตร้อนกำลังอ่อนในทะเลฟิลิปปิน ไม่นานนักจากนั้น ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ออกการแจ้งเตือนการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนกับระบบ ในวันเดียวกันนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ปรับให้ระบบเป็นพายุโซนร้อน และให้ชื่อว่า ชังมี (Jangmi)[35] พายุชังมีเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วมุ่งหน้าไปทางเหนือ และส่งผลกระทบกับประเทศเกาหลีใต้

พายุชังมีทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมขณะเคลื่อนผ่านหมู่เกาะรีวกีว ประเทศญี่ปุ่นสูงสุดที่ 55.8 มิลลิเมตรบนเกาะคุเมจิมะ ส่วนในประเทศเกาหลีใต้จังมีทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมที่ 66.04 มิลลิเมตรในพื้นที่เกิดอุทกภัยมาก่อนหน้าพายุชังมีแล้ว[36][37]

พายุโซนร้อนกำลังแรงเมขลา

พายุโซนร้อนกำลังแรง (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 1 (SSHWS)
ระยะเวลา9 สิงหาคม – ปัจจุบัน
ความรุนแรง95 กม./ชม. (60 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
992 mbar (hPa; 29.29 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): เฟร์ดี

ใกล้เคียง

ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2560 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2566 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2556 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2562 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2559 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2565 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2545 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2546 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2544 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2563

แหล่งที่มา

WikiPedia: ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2563 http://tcdata.typhoon.gov.cn/en/ http://tcrr.typhoon.gov.cn/EN/article/downloadArti... http://www.australiasevereweather.com/cyclones/200... http://www.tropicalstormrisk.com/docs/TSRNWPForeca... http://www.tropicalstormrisk.com/docs/TSRNWPForeca... http://www.prh.noaa.gov/guam/cyclone.php http://www.hko.gov.hk/informtc/tcMain.htm http://meteo.bmkg.go.id/siklon http://www.wmo.int/pages/prog/www/tcp/documents/TC... http://agora.ex.nii.ac.jp/digital-typhoon/